วันที่ 31พฤษภาคม ของทุกปี ถูกจัดให้เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก (World No Tobacco Day)
องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้มีวันงดสูบบุหรี่โลกมาตั้งแต่ปี 2531 เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ทราบถึงอันตรายและความสูญเสียของการสูบบุหรี่
บุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญอันดับสองของการเสียชีวิตในประชากรทั่วโลก โดยการสูบบุหรี่นั้นจะก่อให้เกิดโรคต่างๆ ได้แก่
โรคมะเร็ง
การเกิดมะเร็งในส่วนต่างๆของร่างกายมีความสัมพันธ์กับการสูบบุหรี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งปอดและหลอดลม ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีอาการหายใจลำบาก หอบเหนื่อย บวมบริเวณหน้า คอ แขน และอกส่วนบน กลืนอาหารลำบาก ปวดกระดูก ในปัจจุบันพบว่ามะเร็งปอดและหลอดลม เป็นมะเร็งอันดับหนึ่งที่เกิดในชายไทย
สำหรับมะเร็งระบบอื่นๆที่มีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ ได้แก่
มะเร็งกล่องเสียง
มะเร็งริมฝีปากและช่องปาก
มะเร็งหลอดอาหาร
มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
มะเร็งไตและอวัยวะในระบบขับถ่าย
โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ
สารไนโตรเจนไดออกไซด์ในควันบุหรี่ จะทำลายเยื่อบุหลอดลมและถุงลม ทำให้ผนังถุงลมโป่งพอง ซึ่งมักจะพบร่วมกับโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ผู้ป่วยที่เป็นโรคถุงลมโป่งพองมักจะมีอาการ แน่นหน้าอก ไอเรื้อรัง หอบ เหนื่อย ออกกำลังกายไม่ได้ โรคระบบทางหายใจอื่นๆ ได้แก่
โรคการอุดกั้นทางเดินหายใจอย่างเรื้อรัง
โรควัณโรคปอด
โรคหอบหืด
โรคเส้นเลือดตีบและโรคหัวใจ
นิโคตินจะทำให้เกิดการหดตัวของหลอดเลือดและการจับตัวของไขมันในเส้นเลือด ในรูปของคอเลสเตอรอล และยังทำให้หลอดเลือดแดงเหี่ยวย่น ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆได้ไม่เพียงพอ เป็นผลให้เกิดเส้นเลือดตีบทั่วร่างกาย ถ้าเกิดบริเวณเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจจะทำให้เกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบและเกิดอาการของโรคหัวใจกระทันหัน โรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดและหัวใจอื่นๆ ที่มีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ ได้แก่
โรคหลอดเลือดแข็งตัว
โรคหัวใจขาดเลือด
โรคหลอดเลือดสมอง
โรคความดันโลหิตสูง
โรคแผลในกระเพาะอาหาร
ผู้ที่สูบบุหรี่มีโอกาสเกิดโรคแผลในกระเพาะอาหารสูง และมีอัตราการตายมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่เกือบ 3 เท่า เนื่องจากจะมีเลือดออกในกระเพาะอาหารมากกว่าและแผลจะหายช้ากว่าปกติในระหว่างการรักษา
โรคเหงือกและฟัน
เรามักจะสังเกตเห็นว่าในคนที่สูบบุหรี่จะมีฟันสีเหลือง มีกลิ่นปากและฟันกร่อนผุ ริมฝีปากเขียวคล้ำ เพราะบุหรี่มีสารนิโคตินที่ทำให้เส้นเลือดฝอยทั่วร่างกายหดตัว ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงผิวหนัง รวมทั้งริมฝีปากน้อยลง
ผลกระทบต่อหญิงตั้งครรภ์และทารกในครรภ์
หญิงตั้งครรภ์ที่สูบบุหรี่หรือได้รับควันบุหรี่จากผู้ใกล้ชิดจะมีโอกาสแท้งลูก ครรภ์เป็นพิษ คลอดลูกก่อนกำหนด ทารกตายขณะคลอด หรือทารกที่คลอดออกมาจะมีน้ำหนักน้อยกว่าปกติ นอกจากนี้ทารกยังมีโอกาสเสียชีวิตตั้งแต่แรกเกิดมากกว่าทารกที่มารดาไม่สูบบุหรี่
ควันบุหรี่ทำร้ายเด็ก
ควันบุหรี่มีผลเสียต่อเด็กอย่างมาก โดยเฉพาะในเด็กเล็ก จะมีโอกาสป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจ เช่น หวัด ทอลซิลอักเสบ หลอดลมอักเสบและปอดบวม โรคภูมิแพ้
ควันบุหรี่ทำร้ายผู้ที่ไม่สูบบุหรี่
ผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ที่ได้รับควันบุหรี่ จะมีอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งปอด โรคหัวใจ โรคที่เกี่ยวกับปอด เส้นเลือดหัวใจตีบ หลอดลมอักเสบ ถุงลมโป่งพอง รวมทั้งมะเร็งส่วนอื่นๆของร่างกาย
เช่นเดียวกับผู้ที่สูบบุหรี่ สำหรับผู้ที่เป็นภูมิแพ้ หอบหืด หากได้รับควันบุหรี่จะทำให้อาการกำเริบได้
จากสถิติคนไทยเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่เฉลี่ยปีละประมาณเกือบหกหมื่นราย โดยเสียชีวิตก่อนวัยและเวลาอันควร และก่อนตายแต่ละคนต้องเจ็บป่วย ทุกข์ทรมาน เป็นโรคเรื้อรังจนสูญเสียคุณภาพชีวิตที่ดี
ที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
Comentarios