top of page

เลือกให้ถูก รับมือให้เป็น COVID-19

  • Writer: Bunnie
    Bunnie
  • Mar 18, 2020
  • 1 min read


ช่วงนี้ไม่ว่าจะหันหน้าไปทางไหนใครๆก็ใส่หน้ากากอนามัยกันถ้วนหน้า สืบเนื่องมาจากสถานการณ์โรคระบาดที่มีเชื้อก่อโรคชื่อว่า โคโรน่า ไวรัส (Corona virus) หรือเรียกสั้นๆได้ว่า โควิด-19 (COVID-19) มีขนาดเฉลี่ยประมาณ 0.1ไมครอน ซึ่งเป็นหนึ่งในเชื้อก่อโรคทางเดินหายใจปัจจุบันเริ่มระบาดเป็นวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ

จากงานวิจัยขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า การใส่ "หน้ากากอนามัย" สามารถลดการแพร่กระจายของอณูเล็กๆ ที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนได้ถึงร้อยละ 80 ดังนั้นหากคุณมีอาการป่วยและมีอาการไอและจาม ก็ควรใส่หน้ากากอนามัยเมื่อจำเป็นต้องออกไปในที่ชุมชนหรือต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่นในที่สาธารณะ แต่จะเลือกใช้แบบไหนดี? ถึงจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด มาหาคำตอบไปพร้อมกันค่ะ


ประเภทของหน้ากากอนามัย

การที่จะเลือกใช้หน้ากากอนามัยแบบไหนนั้น เราลองมารู้จักกับหน้ากากอนามัยแบบต่าง ๆ กันก่อนดีกว่า เพราะหน้ากากอนามัยเอง ก็มีหลากหลายแบบให้เลือกใช้งาน ซึ่งหน้ากากอนามัยที่วางขายทั่วไป แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้


1. หน้ากากอนามัยชนิด N95 (Respirator Masks)

หน้ากากอนามัยชนิด Respirator หรือเป็นที่นิยมเรียกในชื่อของ N95 ตัวเลข 95 ใน N95 บ่งบอกถึงค่าประสิทธิภาพในการกรองอนุภาคขนาดเล็กที่ 0.3- 0.1 ไมครอน ซึ่งแขวนลอยในอากาศ เช่น ฝุ่นละอองและเชื้อโรคได้ไม่ต่ำกว่า 95% แต่ความจริงแล้วไวรัสไม่ได้อยู่เป็นอิสระ เพราะ ไวรัสถูกขับออกจากร่างกายของผู้ป่วยโดยปะปนอยู่ในละออง ฝอยที่เกิดจากการไอ จาม หรือในน้ำมูก ซึ่งละอองเหล่านี้มี ขนาดใหญ่กว่านั้นมาก จึงทำ ให้ผ่านแผ่นกรองเข้าไปไม่ได้

เทคนิคการใช้หน้ากากอนามัยชนิดN95

  • เลือกขนาดและรูปร่างของหน้ากาก N95 ที่เหมาะสมกับรูปหน้าของผู้ใส่

  • วางหน้ากากบนฝ่ามือข้างที่ไม่ถนัดประคองด้านหน้าของหน้ากากและทดสอบความยืดหยุ่นของสายรัด

  • วางหน้ากากบนใบหน้าให้ปิด ปากจมูก คาง

  • ดึงสายรัดเส้นล่างข้ามศีรษะ วางบนด้านหลังศีรษะ บริเวณท้ายทอย

  • ดึงสายรัดเส้นบนข้ามศีรษะ วางบนด้านหลังศีรษะ บริเวณเหนือหู

  • จากนั้นใช้ปลายนิ้วกดแถบอลูมิเนียมให้แนบกับสันจมูก

  • หลังจากใส่เรียบร้อยให้ทําการตรวจสอบความแนบกระชับกับใบหน้าของหน้ากากที่ใสโดย

- วางมือทั้งสองข้างประกอบปิดบริเวณหน้ากาก

- หายใจออกอย่างช้าๆ ชัดๆ ต่อเนื่อง

- สังเกตว่าสัมผัสลมออกมาบริเวณรอบขอบหน้ากากโดยรอบหรือไม่ ถ้ามีแสดงว่าหน้ากากไม่ กระชับต้องปรับตําแหน่งหน้ากาก/สายรัด/แถบอลูมิเนียมบริเวณสันจมูกให้กระชับมากขึ้น แล้วทําการตรวจสอบใหม

  • ล้างมือหลังถอดหน้ากาก

  • ถ้าหน้ากากที่ใช้เปียกจากสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย น้ำมูก ควรเปลี่ยนหน้ากากอนามัยทันที และไม่ควรนำกลับมาใช้ซ้ำ



2. หน้ากากอนามัยชนิดทั่วไป (Surgical Masks)

หน้ากากประเภทนี้เราจะเห็นได้ทั่วไปเวลาไปตามโรงพยาบาล วัสดุที่นิยมใช้ในการผลิตหน้ากากอนามัยได้แก่ ผ้าชนิดไม่ถักไม่ทอ (Nonwoven Fabric) ประกอบด้วย 3 ชั้น ด้านหนึ่งอาจมีสีเขียว สีฟ้า หรือสีขาว ค่อนข้างมันและเป็นด้านที่จะไม่ค่อยเปียกน้ำเนื่องจากมีสารกันซึมช่วยป้องกันเชื้อโรค มลพิษหรือของเหลวจากภายนอก เวลาสวมให้เอาด้านนี้ออกข้างนอก ส่วนด้านในที่สัมผัสกับปากและจมูกจะช่วยดูดซับสารคัดหลั่งหรือความชื้นที่มาจากผู้ใช้ ลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคผ่านทางการไอ จาม ลดความเสี่ยงการติดเชื้อระหว่างคนสู่คนได้ โดยมีการศึกษาพบว่าหน้ากากอนามัยช่วยกรองเชื้อโรคได้ถึง 80% (อนุภาคระดับ 3 ไมครอน)

เทคนิคการใช้หน้ากากอนามัยชนิดทั่วไป

  • ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ไม่ควรนำกลับมาใช้ซ้ำ

  • ล้างมื้อให้สะอาดทั้งก่อนและหลังการใส่หน้ากากอนามัย

  • ควรใส่ให้พอดีกับใบหน้า หันด้านที่มีสีออก

  • ให้ด้านที่มีลวดอยู่ด้านบนตรงบริเวณจมูก หากเป็นแบบไม่มีสี ให้สังเกตรอยพับของหน้ากากอนามัย จากนั้นใช้สายคล้องเข้ากับหู

  • ดึงหน้ากากให้ลงมาปิดบริเวณใต้คาง

  • ในการถอดทิ้งให้จับที่บริเวณสายคล้องหู และทิ้งลงในถังขยะที่มีฝาปิดให้เรียบร้อย



3. หน้ากากผ้า

ช่วยป้องกันละอองฝอยขนาดใหญ่ที่จะมาสัมผัสจมูกและปากโดยตรง ไม่มีสารกันซึม การสวมใส่หน้ากากผ้าเป็นระยะเวลานานจะกักเก็บละอองฝอยและสามารถซึมผ่านผ้ามาเข้าจมูกและปากได้ ซึ่งจะกลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคหากใช้ผิดวิธี

แต่ในกรณีที่ขาดแคลนหน้ากากอนามัย หน้ากากผ้าเย็บเองอาจจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือก โดยเลียนแบบหน้ากากอนามัยทั่วไป ชั้นนอกสุดควรเป็นผ้าเนื้อแน่นละเอียด ไม่ซึมน้ำ ส่วนชั้นกลางเป็นผ้าสาลู เช่น ผ้าอ้อมเด็กซ้อนทับกัน2-3ชั้น เป็นต้น เมื่อใช้แล้วยังสามารถต้มฆ่าเชื้อ หรือแช่ผงซักฟอกก่อนซักนำ และตากแดด

เทคนิคการใช้หน้ากากผ้า

  • อย่าใส่นาน เปลี่ยนบ่อยๆ อย่าปล่อยให้ซึมชื้น

  • ถอดแล้วซักทันที

  • มือที่จับหน้ากากเวลาซักควรล้างมือให้สะอาดทันที


4. หน้ากากป้องกันมลพิษ (Gas Masks)

หน้ากากป้องกันมลพิษนั้นสามารถป้องกันมลพิษได้โดยตรง ป้องกันได้ทั้งฝุ่นละออง ควัน ไอเสียจากรถ รวมไปถึงสารเคมีได้ด้วย แต่หน้ากากชนิดนี้ไม่สามารถป้องกันเชื้อโรคได้ ไม่เหมาะสำหรับใส่เพื่อป้องกันโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจ




เราควรใสหน้ากากอนามัยตอนไหนบ้าง?

  1. เมื่อตัวเราป่วยมีอาการทางระบบทางเดินหายใจ

  2. เมื่อต้องดูแลผู้ป่วย(บุคลากรทางการแพทย์)

  3. เมื่อต้องอยู่ในสถานที่แออัด


การใส่หน้ากากอนามัยควรใส่ให้ถูกต้องและเหมาะสมจึงจะช่วยป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าใส่ผิดวิธีจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อเพิ่มมากยิ่งขึ้น









แหล่งที่มา :

  1. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

  2. สถาบันพลาสติก โครงการระบบฐานข้อมูลอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์

 
 
 

Opmerkingen


bottom of page