top of page
Writer's pictureBunnie

ในควันบุหรี่มีสารพิษอะไรบ้าง?



รู้หรือไม่คะว่าในบุหรี่​1มวน มีสารเคมีมากกว่า​ 1,000 ชนิด​และเมื่อบุหรี่นั้นเผาไหม้แล้ว​จะมีสารเคมีเกิดขึ้นมากกว่า​ 4,000 ชนิดกันเลยทีเดียว​ ซึ่งมีสารพิษที่จะก่อให้เกิดโรคร้ายต่างๆ

สารพิษที่สำคัญในบุหรี่​ คือ ​นิโคติน ​ ทาร์ ​ คาร์บอนมอนอกไซด์​ ไนโตรเจนไดออกไซด์​ ไฮโดรเจนไซยาไนด์​ แอมโมเนีย​ สารกัมมันตภาพรังสี​ และยาฆ่าแมลง​ เช่น​ ดีดีที​ เป็นต้น


1.นิโคติน (Nicotine)

นิโคติน​เป็นสารที่พบตามธรรมชาติ​ในใบยาสูบเท่านั้น​จัดเป็นสารที่มีฤทธิ์เสพติดสูงและยังทำให้คนติดบุหรี่​ สารนี้ในระยะแรกมีฤทธิ์ในการกระตุ้นสมองและระบบประสาทส่วนกลาง​ต่อมาจะมีฤทธิ์กดระบบประสาท​ การสูบบุหรี่​แท้ที่จริงแล้วก็คือ​การทำให้ร่างกายได้มาซึ่งสารเสพติด​ในที่นี้คือ​นิโคติน​ที่มีอยู่ในควันบุหรี่​ โดยสมองจะได้รับนิโคตินภายใน ​7 วินาทีหลังจากสูดควันเข้าปอดครั้งแรก​นิโคตินทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น ​หลอดเลือดแดงหดลง ​หัวใจเต้นเร็ว เพิ่มไขมันในเส้นเลือด​ เป็นสาเหตุให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือด​เส้นเลือดตีบ หัวใจวาย ​แผลในกระเพาะอาหาร​ เส้นเลือดในสมองตีบ ​เป็นต้น​

นิโคตินในบุหรี่มวนแรกของแต่ละวันจะกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ใหญ่​ ลดความอยากอาหารและยังทำให้การย่อยอาหารช้าลง​ ทำให้เลือดไหลเวียนไปยังแขนและขาลดลง​จึงมีผลทำให้อุณหภูมิของผิวหนังลดลง ​ในผู้ที่ไม่เคยสูบ​บุหรี่​นิโคตินจะทำให้คลื่นไส้​ ในผู้ใหญ่​หากได้รับนิโคติน​ 6 มิลลิกรัม​ ในครั้งเดียวจะเสียชีวิตทันที​จากการที่กล้ามเนื้อหายใจเป็นอัมพาต

​(ในบุหรี่ 1 มวนจะมีนิโคตินประมาณ​1 มิลลิกรัม​) พิษของนิโคตินนี้เทียบได้กับการได้รับสารไซยาไนด์


2.ทาร์ (Tar)

ประกอบด้วยสารหลายชนิด​มีลักษณะเป็นละอองของเหลวที่เป็นยางสีน้ำตาลเข้ม​คล้ายน้ำมันดิน ​ส่วนใหญ่เป็นสารที่มีอันตราย ​เช่น​ เบนโซพัยริน​ (Benzopyrene ) ซึ่งเป็นสาร

ก่อมะเร็ง​ โดยได้มีการทดลองเอาเบนโซพัยรินขนาดเจือจาง​ 1:1000 ใส่ในเม็ดพาราฟินและฝังลงในกระพุ้งแก้มของหนูแฮมเตอร์​ 25 สัปดาห์​ พบว่า​ 90% ของหนูนั้นเป็นมะเร็งในช่องปาก​

นอกจากเบนโซพัยรินแล้ว​ควันบุหรี่ยังมีสารก่อมะเร็ง​ชนิดอื่น​รวมทั้งสิ้น ​42 ชนิด ควันบุหรี่จึงเป็นแหล่งของสารก่อมะเร็งที่สำคัญที่สุดของมนุษย์​

ร้อยละ ​50 ของทาร์จะจับอยู่ในปอด​เมื่อหายใจเอาฝุ่นเข้าไป​ทำให้เกิดการระคายเคือง​ ​และขังอยู่ในถุงลมปอด ​ซึ่งเป็นสาเหตุของการไอ ​ก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอดและถุงลมโป่งพอง


3.คาร์บอนมอนอกไซด์​ (Carbon Monoxide)

เป็นก๊าซที่มีความเข้มข้นมากในควันบุหรี่​ที่เกิดจากการเผาไหม้ของใบยาและกระดาษที่ใช้มวนบุหรี่​ สารนี้จะไปจับในเม็ดเลือดและขัดขวางการลำเลียงออกซิเจนของเม็ดเลือดแดง​ ทำให้ผู้สูบบุหรี่ได้รับออกซิเจนน้อยลง​ ทำให้หัวใจต้องเต้นเร็วขึ้น​ ทำงานมากขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายให้ได้รับออกซิเจนเพียงพอ ​อาจทำให้เกิดอาการหน้ามืด​และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคเส้นเลือดตีบตันและหัวใจขาดเลือด


4.ไฮโดรเจนไซยาไนด์ (Hydrogen Cyanide)

เป็นก๊าซพิษที่ใช้ในสงคราม ก่อให้เกิดอาการไอ มีเสมหะและหลอดลมอักเสบเรื้อรัง


5.ไนโตรเจนไดออกไซด์ (Nitrogen Dioxide)

เป็นสาเหตุของโรคถุงลมโป่งพองเช่นเดียวกับทาร์ เพราะไปทำลายเยื่อบุหลอดลมส่วนปลาย

และถุงลม


6.แอมโมเนีย (Ammonia)

มีฤทธิ์ระคายเคืองเนื้อเยื่อ ทำให้แสบตา แสบจมูก หลอดลมอักเสบ มีอาการไอ และมีเสมหะมาก


7.สารกัมมันตภาพรังสีและแร่ธาตุต่างๆ

ในควันบุหรี่จะมีสารโพโลเนียม-210 ที่มีรังสีแอลฟาอยู่ กัมมันตภาพรังสี ของสารนี้เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคมะเร็ง

นอกจากนี้ในควันบุหรี่ยังมีแร่ธาตุบางอย่าง เช่น โปแตสเซียม โซเดียม แคลเซียม ทองแดง นิเกิล โครเมียม รวมทั้งสารดีดีทีเป็นสารตกข้างในใบยาสูบหลังจากการพ่นยาฆ่าแมลง ซึ่งก่อให้เกิดภาวะเป็นพิษต่อร่างกายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่วเมื่อนิเกิลทำปฏิกิริยากับสารเคมีอื่น จะกลายเป็นสารพิษที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง





ที่มา : สมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย


129 views0 comments

Comments


bottom of page